ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี

ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี ดร. เจฟฟรีย์ ฮินตัน ผุ้บุกเบิกเทคโนโลยีด้านเอไอ ได้ให้สัมภาษณ์และแสดงความกังวลในความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ โดยความสามารถที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว อาจเกิดปัญหาทั้งการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ หรือการถูกนำไปใช้โดยรัฐเผด็จการ

ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี

ดร. เจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คนสำคัญ และได้รับการยกย่องเป็นเจ้าพ่อด้านเอไอ ได้แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาและการใช้งาน AI ในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอส ระบุว่าความเร็วในการพัฒนาของ AI นั้นเหนือความคาดหมายของเขาอย่างมาก และเตือนถึงภัยคุกคามร้ายแรงที่อาจตามมา

ดร. ฮินตัน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานเทคโนโลยีโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) อันเป็นหัวใจของ Generative AI ที่ใช้กันแพร่หลาย ยอมรับว่าเขาไม่เคยคาดคิดว่า AI จะพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ภายในเวลาเพียง 40 ปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่อาจเร็วกว่ากฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ใช้วัดความก้าวหน้าของวงการเซมิคอนดักเตอร์เสียอีก ก่อนหน้านี้เมื่อสองปีก่อน เขาก็เคยเตือนผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะ นิว ยอร์ก ไทมส์ ถึงความยากลำบากในการป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด

ดร. ฮินตัน ชี้ว่าส่วนตัวเขาแล้วมีความกังวลต่อการพัฒนาเอไอที่อาจเกิดเป็นภัยคุกคามถึง 5 ด้าน ได้แก่ เริ่มจากความเสี่ยงที่ AI จะควบคุมมนุษย์ โดยดร.ฮินตัน ประเมินว่าปัญหานี้อาจมีความเสี่ยงประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่ AI อาจพัฒนาขีดความสามารถจนถึงขั้นควบคุมหรือเข้ามามีอำนาจเหนือมนุษย์ได้

ดร. ฮินตัน ย้ำว่า AI มีประโยชน์มหาศาลในด้านต่างๆ จริง แต่ก็มีความน่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อ AI มาถึงจุดที่ฉลาดเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจ AI อาจเริ่มดำเนินการเพื่อเป้าหมายของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป หรือ Artificial General Intelligence (AGI)

ต่อมาก็คือ AI อาจเป็นภัยแฝงที่ภายนอกดูน่ารักไม่น่ามีพิษมีภัย สามารถสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้ใช้งานได้ แต่เมื่อ AI เติบโตขึ้น ก็อาจเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เนื่องจาก AI เป็นระบบที่ไร้อารมณ์และมุ่งเน้นเพียงการบรรลุผลลัพธ์ตามที่ถูกโปรแกรมไว้

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ดร. ฮินตันแสดงความกังวลก็คือ AI จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมากให้กับแฮกเกอร์ใช้โจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการเงิน เป็นต้น

นอกจากแฮกเกอร์แล้ว รัฐบาลเผด็จการก็อาจนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิดได้โดยง่าย เช่น การสอดส่องหรือควบคุมประชาชน หรือแม้แต่การสร้างโฆษณาชวนเชื่อที่มีความสลับซับซ้อนและมีประสิทธิภาพที่สูงมากได้

สุดท้ายก็คือ บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีในเวลานี้อย่างโอเพนเอไอ, กูเกิล, ไมโครซอฟท์ หรือเมตา ซึ่งอยู่ระหว่างการแข่งขันการพัฒนา AI เน้นไปที่การสร้างผลกำไรระยะสั้นและการสร้างโอกาสการเป็นผู้นำตลาดด้าน AI มากกว่าที่จะลงทุนด้านความปลอดภัยของ AI

อย่างไรก็ดี ดร. ฮินตัน ไม่ได้เสนอทางออกที่ชัดเจนต่อปัญหาเหล่านี้ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง ดร.ฮินตัน กล่าวทิ้งท้ายว่า มนุษยชาติกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ โดยที่เทคโนโลยี AI อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ในการรับมือและการทำความเข้าใจต่อมิติใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีที่เกิด redslurpeee